วุ้นตาเสื่อม (Vitreous floaters) ถูกพบบ่อยในคนทั่วไป โดยเกิดจาก วุ้นตา หรือ น้ำวุ้นตา ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่อยู่ด้านในของดวงตาของเราเสื่อม หรือมีความผิดปกติอื่นๆเกิดขึ้นกับดวงตา
เลือกอ่านตามหัวข้อที่สนใจได้เลยค่ะ
วุ้นตานั้นจะมีลักษณะคล้ายของเหลวใส ไม่มีสี คล้ายเจล โดยวุ้นตานั้นมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำ 98-99% ส่วนที่เหลือจะเป็น โปรตีน คอลลาเจน เกลือแร่ และกรดไฮยาลูโรนิค
ซึ่งวุ้นตาจะมีหน้าทีเป็นตัวกลางให้แสงผ่าน เป็นแหล่งอาหารของแก้วตา จอประสาทตาและเนื้อเยื่อ และคอยพยุงให้ดวงตาเป็นรูปทรงกลม เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาจะค่อยๆกลายเป็นน้ำใส ซึ่งการเสื่อมของวุ้นตาจะทำให้บริเวณที่เคยติดกับจอประสาทตาหลุดออก จนอาจจะเกิดอาการจอประสาทตาหลุดลอก
อาการของวุ้นตาเสื่อม
จะมีอาการมองเห็นเงาคล้ายหยากไย่ หรือ ลูกน้ำ ลอยไปมา มีหลากหลายลักษณะไม่ว่าจะเป็นจุดเดียว หลายๆจุด เป็นวงเป็นเส้น จะเห็นได้ชัดก็ต่อเมื่อกลอกตามองท้องฟ้าหรือมองผนังขาว ซึ่งจะสร้างความรำคาญตาให้กับคนที่มีอาการนี้
สาเหตุการเกิด
อาการวุ้นตาเสื่อมนั้น สามารถเกิดได้หลายสาเหตุได้แก่
- เป็นมาตั้งแต่กำเนิด บางคนอาจจะเกิดอาการ น้ำวุ้นในตามีหลอดเลือด (Hyaloid artery) ซึ่งหากเป็นกรณีปกติหลอดเลือดจะต้องหดและหายไปก่อนทารกคลอด แต่จะมีบางคนที่ภาวะการหดหายของหลอดเลือดนั้นไม่สมบูรณ์จนมีหลงเหลืออยู่ที่วุ้นตา ซึ่งภายในหลอดเลือดนั้นจะมีเม็ดเลือดแดงที่อาจจะหลุดออกมาสู่วุ้นตาทำให้เกิดภาพเงาเป็นจุดๆได้
- ภาวะวุ้นตาเสื่อมแล้วหดตัว มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ภาวะนี้ไม่มีอันตราย แต่จะสร้างความรำคาญตา ให้กับผู้ที่เกิดอาการ ไม่จำเป็นต้องรักษา บางคนอาการจะค่อยๆหายไปเอง
-
ภาวะวุ้นตาด้านหลังหลุดลอกออกจากจอประสาทตา ส่วนใหญ่มักพบในคนอายุมากกว่า 70 ปี โดยเมื่อวุ้นตาเริ่มเสื่อม จะมีลักษณะเป็นน้ำใสๆ ไม่หนืดตัว ซึ่งจะทำให้วุ้นตาหดตัวลงแล้วค่อยๆลอกออกจากจอประสาทตาด้านหลัง ดังนั้นผู้ที่เกิดอาการนี้จะเห็นเงา หรือเป็นวง ลอยไปมา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเกิดภาวะอื่นที่อันตรายต่อดวงตา เช่น อาจเกิดภาวะจอประสาทตาฉีกขาด
-
ภาวะจอประสาทตาฉีกขาด เมื่อวุ้นในตาเสื่อมและหดตัวจะทำให้วุ้นตาดึงจอประสาทตามากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทำให้เกิดภาวะจอประสาทตาหลุดลอกออกมา (Retinal detachment) และอาจทำให้ตาบอดถาวร
-
ภาวะเลือดออกในวุ้นตา ซึ่งภาวะนี้สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ผู้เกิดอาการเป็นโรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) หรือได้รับอุบัติเหตุทางดวงตามาก่อน
-
อาจเกิดจากเซลล์ต่างๆที่เกิดขึ้นจากการอักเสบภายในดวงตา ซึ่งมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้เช่น อาจจะเกิดจากการอักเสบภายในดวงตา จากกรณีต่างๆเช่นเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เนื้อเยื่อจอประสาทตาเกิดแผลจนอักเสบ
-
ใช้ยาและสารเคมีบางชนิด การใช้ยาและสารเคมีบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะวุ้นตาเสื่อม ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนปลงของเส้นใยในน้ำวุ้นตาจนแคลเซียมของคอเลสเตอรอล ลอยไปมาในวุ้นตาจนเกิดภาพเงาดำ
-
ผนังลูกตาชั้นกลางที่ด้านหลังดวงตาอักเสบ อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ หรือ เกิดจากปฎิกิริยาภูมิต้านทานของตัวเอง ทำให้ผู้ที่เกิดอาการเห็นภาพเงาดำเป็นหยากไย่และตามัว
วิธีรักษา
วิธีการรักษาวุ้นลูกตาเสื่อมนั้น หากเป็นในกรณีที่ไม่ร้ายแรงเช่น มองเห็นแค่เงาดำหยากไย่ ลอยไปมา แต่ไม่มีอาการฉีกขาดของจอประสาทตา ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะอาการนี้จะเพียงแค่สร้างเพียงความรำคาญใจเท่านั้น ไม่ก่อเกิดอันตรายต่อดวงตา บางรายอาจจะเคยชิน หรือ อาจจะหายไปเอง
แต่หากมีอาการที่แย่ลงเช่น
- มองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ
- เห็นเงาดำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว
- เห็นเงาคล้ายม่านมาปิดบังดวงตา
- สายตามัวลง
อาการเหล่านี้หมอขอแนะนำว่า ผู้ป่วยควรรีบพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุดค่ะ
โดยวิธีรักษามีหลายวิธี ตามอาการของผู้ป่วยหลังจากการวินิจฉัยของจักษุแพทย์ เช่น
ยิงเลเซอร์ หรือ จี้ด้วยความเย็น เมื่อตรวจพบรอบฉีกขาดที่จอประสาทตา
ผ่าตัดดวงตา เมื่อพบว่าจอประสาทตาหลุดออก
รักษาหรือควบคุมโรคอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
สรุป
มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการวุ้นตาเสื่อม (Vitreous floaters) ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นก็มีทั้งร้ายแรงที่จำเป็นต้องหาจักษุแพทย์และไม่ร้ายแรงสามารถหายเองได้
โดยหากมีอาการเกิดขึ้นควรสังเกตุอาการตัวเองให้ดีว่ามีอาการที่แย่ลงหรือไม่ ซึ่งถ้าหากอาการแย่ลงหมอขอแนะนำว่าควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์จะดีที่สุดค่ะ